วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความเป็นมาของอาชีพหัตถกรรมบ้านถวาย

พ่อใจมา อิ่มแก้ว  พ่อหนานแดง พันธุสา และ พ่อเฮือน พันธุศาสตร์ ได้ไปรับจ้างทำงานก่อสร้างในเมืองที่ร้านน้อมศิลป์  บ้านวัวลาย  ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายไม้แกะสลักที่โด่งดังในช่วงนั้น ทั้งสามคนเกิดความสนใจในการแกะสลัก จึงได้เปลี่ยนอาชีพมารับจ้างแกะสลักไม้


            เมื่อเกิดความชำนาญ ทางร้านก็ให้นำงานกลับมาทำที่บ้าน และเป็นจุดเริ่มต้นการถ่ายทอดงานแกะสลักไม้ให้แก่ลูกหลาน ญาติพี่น้อง  เพื่อนบ้าน โดยไม่หวงความรู้แม้แต่น้อย งานที่นำมาถ่ายทอดครั้งแรก คือ การแกะสลักไม้เป็นแผ่นลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายรามเกียรติ์ ครุฑ สิงห์  ตุ๊กตาดนตรี ต่อมาก็ทำตัวพระ และรับซ่อมแซมตกแต่งของเก่าประเภทไม้  และเริ่มลอกเลียนแบบของเก่าที่มีผู้นำมาซ่อมแซม  พร้อมทั้งออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง จากนั้นก็มีสตรีแม่บ้านของบ้านถวายออกไปรับจ้างทำแอนติค  ทำสี  ตกแต่งลวดลายเดินเส้น(ลายเส้นใช้วัสดุจากปูนขาวสีและชัน ผสมให้เข้ากันตามส่วน นำมาทำเป็นเส้น) เมื่อมีงานเพิ่มมากขึ้นทางร้านก็ให้นำกลับมาทำที่บ้านของตน  คิดค่าจ้างเป็นรายชิ้น  เมื่องานเสร็จก็นำไปส่งคืนให้กับทางร้าน  ซึ่งเป็นโอกาสได้พบปะกับลูกค้าของทางร้าน โดยลูกค้าได้ติดต่อขอที่อยู่ไว้และเข้ามาซื้อโดยตรง ก่อให้เกิดธุรกิจในหมู่บ้านขึ้น  โดยแต่ละบ้านจะปรับบริเวณของตนใช้หน้าบ้านเป็นร้านค้า  และใช้พื้นที่หลังบ้านทำงานหัตถกรรม  จนกลายเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมไม้แกะสลักในครอบครัว ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


พ่อใจมา  อิ่มแก้ว

พ่อหนานแดง  พันธุสา

พ่อเฮือน  พันธุศาสตร์



ผู้ให้ข้อมูลอ้างอิง
นายวสันต์  เตชกันต์








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น